เจ้าของผลงานลิขสิทธิ์ของตนเอง

เจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิอะไรบ้างในผลงานของตนเอง

เจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิอะไรบ้างในผลงานของตนเอง
.
ปัจจุบันหลายคนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น เพราะถือเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้
.
อย่างที่ทราบกันดีว่าเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการกระทำบางอย่างต่อผลงานลิขสิทธิ์ของตนเอง ซึ่งสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่ว่ามีดังนี้
.
1. ทำซ้ำ คือ การคัดลอกหรือทำสำเนางานลิขสิทธิ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือแค่บางส่วนของงาน เช่น การถ่ายเอกสาร การตีพิมพ์ การบันทึกเสียงเพลงที่เปิดจากซีดี การอัดรูป การอัพโหลดและดาวน์โหลดเพลงหรือภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งการทำซ้ำจะได้งานที่เหมือนกับงานต้นฉบับที่มีลิขสิทธิ์
.
2. ดัดแปลง คือ การทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปแบบใหม่ การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือการจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีการจัดทำขึ้นใหม่ เช่น การแปล การรีมิกซ์เพลง การแปลงนิยายเป็นบทละคร การปรับเปลี่ยนภาพสองมิติเป็นแอนิเมชันสามมิติ ฯลฯ
.
3. เผยแพร่ต่อสาธารณชน คือ การนำงานให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยวิธีต่างๆ เช่น การจำหน่ายหนังสือที่ตีพิมพ์ การนำรูปที่วาดออกแสดงในงานจัดแสดง การเปิดเพลงในร้านอาหาร การโพสต์รูปลงสื่อสังคมออนไลน์ ฯลฯ ทำให้สาธารณชนเข้าถึงงานได้และยังสร้างมูลค่าให้กับตัวงานลิขสิทธิ์ด้วย
.
4. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน คือ การให้ผู้อื่นนำทรัพย์สินไปใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยมีค่าตอบแทน ซึ่งสิทธิในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานนั้น จำกัดเฉพาะงานลิขสิทธิ์ประเภท โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียงเท่านั้น
.
5. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น คือ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่นได้ เช่น ยกค่าลิขสิทธิ์ที่ได้รับจากการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานให้แก่ผู้อื่น
.
6. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน แต่เจ้าของลิขสิทธิ์อาจไม่สะดวกใช้สิทธิเหล่านี้ เพราะอาจไม่มีต้นทุนหรือไม่มีช่องทางจำหน่าย จึงสามารถอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิดังกล่าวแทนตนได้ ซึ่งอาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ เช่น จำนวนค่าตอบแทน ประเภทสิทธิที่อนุญาต ระยะเวลา เขตพื้นที่ ฯลฯ
.
สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นการให้อำนาจเฉพาะแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในการใช้สิทธิ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ ดังนั้นหากใครฝ่าฝืน ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ มีความผิดทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา
.
นอกจากนี้แล้วเจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของตนเองให้แก่ผู้อื่นได้
โดยทำเป็นหนังสือสัญญาโอนลงลายมือชื่อทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้รับโอน ซึ่งจะทำให้สิทธิต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ถูกโอนไปเป็นของผู้รับโอนตามเงื่อนไขของสัญญา
.
#Litetrademark #ลิขสิทธิ์
.
Source : www.moc.go.th

Related Blog